แนะนำให้อ่านให้จบน่ะครับ เยี่ยมมาก
หมายเหตุ สิ่งที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ถือเป็นแต่เพียงมุมมองหนึ่งของผมที่มีต่อสายวิชาชีพด้านnetworkเท่านั้นนะ ครับ ไม่อาจถือเป็นข้ออ้างอิงได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับแต่ละคนอาจเห็นไม่ตรงกับผมก็ได้ สิ่งที่จะพูดถึงจะเป็นแต่เพียงเรื่องของสิ่งที่เป็นส่วนใหญ่ที่ผมพบเห็นมา ไม่ใช่ข้อสรุปเสมอไป จึงอยากที่จะให้คนที่อ่านคิดตามไปด้วยเพื่อวิเคราะห์หาสิ่งที่จะเป็น ประโยชน์กับตัวเอง เพื่อนำไปใช้ต่อไป
Networker ถือเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ทำงานด้าน network โดยตรง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มของ system admin หรือ network admin ยกตัวอย่างที่เห็นค่อนข้างชัดคือพวกที่ได้ ccie พวกนี้จัดเป็น networker คนพวกนี้จะเชี่ยวชาญเรื่อง network มาก แต่ถ้าต้องให้มานั่ง configure active directory หรือ mail server ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเรื่อง network เขาจะรู้เรื่องมากกว่าพวก network admin ในขณะที่กลุ่ม system admin และ network admin นั้นจะทำงานที่ใกล้เคียงกัน คือ ดูแลระบบ networkและsystemในองค์กรใดๆ ซึ่งอาจจะมีขนาดเล็กจนถึงปานกลาง และใหญ่
ในองค์กรระดับเล็กถึงปานกลางเรามักจะเรียกคนดูแลระบบ IT รวมๆว่า admin หรือ administrator แต่พอเป็นองค์กรระดับใหญ่ จำเป็นต้องมี admin มากกว่าหนึ่งคน ทีนี้เขาก็เริ่มแบ่งงานกัน ซึ่งโดยมากมักจะแบ่งเป็นพวก system ดูแล server, AD, mail, database (บางที่ที่ใหญ่มาก ก็จะแบ่งออกไปอีกเป็น database admin ก็มี) และอีกพวกจะดูแลด้าน network เช่น switch, router, vpn, firewall, internet link เป็นต้น ตอนนี้จะเห็นว่า เรามีคนอยู่สามกลุ่มที่ใกล้เคียงกันคือ admin, system admin, network admin คิดว่าน่าจะพอแยกออกแล้วนะครับ ที่อยู่ของคนสามกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามบริษัทเอกชน enterprise ทั่วไป และมีอยู่ในพวก SI (System integrator) ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่จะขอพูดถึงเนื้อหาของคนสามกลุ่มคร่าวๆ เพื่อให้เห็นเป็น idea เพื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบกับพวก networker ในภายหลังได้นะครับ
กลุ่ม administrator
กลุ่มนี้จะทำทุกอย่างเกี่ยวกับระบบ ITในองค์กร รวมตั้งแต่ server AD, DNS, DHCP, MAIL, File, Printer, Router, internet link, switch, vlan, wan และอื่นๆทุกอย่าง (ทำแค่ระดับเบื้องต้น ไม่ได้ลงลึก) สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันเกือบจะทั้งหมดของกลุ่มนี้คือ เมื่อมีการติดตั้งระบบใหม่มักจะเป็นการจ้าง SI เข้ามาทำให้ ถัดจากนั้น admin ก็จะเป็นคนดูแลต่อ งานที่ adminจะได้ทำส่วนใหญ่ จะเป็นการแก้ปัญหาให้ user และการกู้ระบบเมื่อมันล่มเช่น email, router, internet เป็นต้น สิ่งที่จะเป็นตัววัดว่าadmin คนไหนเก่งกว่ากันก็จะขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินของแต่ละคน และขนาดของระบบ IT ที่ดูแล เพราะยิ่งระบบมีขนาดใหญ่ user เยอะ มันก็จะมีปัญหาจากuser ตามมาค่อนข้างมาก admin มักจะต้องเจอกับปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้ไขอยู่เสมอ ระดับของปัญหานั้นจะเป็นระดับง่ายถึงปานกลาง ในช่วงแรกของadminทุกคนจะรู้สึกว่าปัญหาทุกอย่างเป็นเรื่องยากไปหมด แต่เมื่อเขาทำไปซักพัก เขาจะรู้สึกว่าง่ายขึ้น และจุดนี้เองที่เป็นที่กำเนิดของคำว่าทำมากประสบการณ์เยอะก็จะเก่ง เพราะพอทำมากๆเจอปัญหาหลายแบบ เขาจะเรียนรู้วิธีแก้ไข แล้วพอมันเกิดขึ้นอีก ทีนี้ก็หมูเลย แก้ไม่ยาก เพราะเคยทำมาแล้ว มาถึงตรงนี้ก็ฟังดูธรรมดาใช่ไหมครับ แต่อันที่จริงถ้าหากมองจากภาพใหญ่เราจะพบว่า อันที่จริงแล้วปัญหาที่adminเจอกันส่วนใหญ่นั้นเป็นการแก้ปัญหาให้ user หรือทำระบบเพื่อ support user ซึ่งระดับของปัญหาเล่านี้ยังจัดว่าเป็นระดับง่ายถึงแค่ปานกลาง ดังนั้น ถ้าหาก adminยังมองระดับตัวเองไม่ออกและไม่รู้จักขยับขยายระดับของตัวเองขึ้นเขาก็ จะเริ่มติดอยู่กับระดับของ admin และประโยคที่ว่า ทำมานาน ลงมือทำเองมามาก ปฏิบัติมาเยอะ ประสบการณ์สูง และมั่นใจว่านั่นคือที่สุดแล้ว เพราะเขาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทได้เกือบจะทั้งหมด จะเริ่มเกิดขึ้น และถึงแม้ในบางครั้งบริษัทอาจจะมีเรื่องใหม่ๆเข้ามาให้เขาทำ เขาก็สามารถจัดการมันได้โดยไม่ยากอะไรนัก สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นกับดักของเขาเองไปในตัว เพราะเขาจะวนเวียนอยู่แต่กับระดับซึ่งครอบตัวเขาไว้ทำให้เขามองว่าทั้งหมด ที่เขามองเห็นและทำอยู่ในบริษัทนั่นมันคือที่สุดแล้ว เกือบจะทั้งหมดของadminที่ไม่ได้ขยับขยายตัวเองไปไหน สุดท้ายเมื่ออยู่ไปนานๆ จะมีได้สองแบบ คือโดนดอง (บริษัทจะมองว่าเขามีความสามารถสูงแต่เงินเดือนที่จ้างก็ไม่ได้สูงอะไร และดูเขาก็มีความสุขในสิ่งที่เขาทำอยู่ เพราะฉะนั้นบริษัทควรหาทางจ้างเขาไปเรื่อยๆในตำแหน่งนี้แหละดีแล้ว) ในขณะที่อีกกลุ่มจะถูก promoteเป็น IT managerเพราะบริษัทมองว่าเขารู้จักระบบงานทุกเรื่องของบริษัทแล้ว น่าจะเอามาดูแลทั้งระบบในระดับงาน IT management เลยก็น่าจะดี adminที่อยู่ที่เดิมจนรากงอกก็มีทางไปสองแบบหลักๆ แล้วแต่ดวงแล้วแต่บริษัทที่อยู่ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าโชคดีก็อาจได้เป็น IT manager
กลุ่ม network administrator
กลุ่มนี้มักจะเจอกันมากในบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่และพวก SI กลุ่มนี้โดยมากมักจะก้าวมาจากการเป็น adminของบริษัทอื่นมาก่อนแล้วก็เปลี่ยนงานมาที่ใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ใน SI โดยส่วนใหญ่คือพวก adminเดิมที่พยายามผันตัวเองเพื่อก้าวขึ้นมาเป็น network admin หรืออีกชื่อคือ network engineer อันที่จริงใช้สองชื่อเรียกน่าจะเหมาะสมกว่าคือ network adminจะอยู่กับบริษัทเอกชนทั่วไปที่ดูและระบบ IT ส่วน network engineer จะอยู่ที่ SI เป็นหลัก หน้าที่หลักของ network admin คือดูแลระบบ IT โดยเน้นที่ตัว network เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น router, switch, firewall, wan, etc คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่หน้าที่จะเป็นการ operateตัวอุปกรณ์ต่างๆให้ทำงานได้ตามปกติเสียมากกว่า แต่ถ้าเมื่อไหร่มีการติดตั้งระบบเพิ่มมักจะให้ SI ทำให้ เพราะเนื่องจากบริษัทที่อยู่มักเป็นขนาดกลางถึงใหญ่ เขาจึงมีงบพอสมควรในการจ่ายให้ SI ทำให้หมดแทนที่จะทำเอง ดังนั้นพวก network admin จึงมักไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการ implementระบบขนาดปานกลางถึงใหญ่ เพราะมักจะเป็นพวก SI ทำเสียมากกว่า สำหรับกลุ่ม network engineer ที่อยู่ตาม SI ก็จะมีหน้าที่ต่างออกไปคือจะเป็นพวก implementor ซะเป็นส่วนใหญ่ คือติดตั้งทั้งระบบใหม่ integrate ระบบเข้ากับของเดิม เป็นต้น โอกาสที่จะได้เจอปัญหาหน้างานที่ต้องsupport user จริงๆจังๆเหมือน network adminจะไม่ค่อยมี แต่ที่ต้องระวังคือ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าซึ่งเป็น network admin เขาแก้ปัญหาไม่ได้ พวก network engineer ที่ถูกเรียกเข้าไปจะถูกคาดหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้เสมอ เอาล่ะทีนี้ประเด็นเริ่มมีขึ้น เดิมทีเดียวเมื่อเทียบระหว่างคนติดตั้งกับคนดูแลระบบ อันที่จริงถึงแม้คนสองกลุ่มนี้จะทำงานกันคนละแบบ แต่ทักษะของคนสองกลุ่มนี้จะไม่ได้แตกต่างอะไรกันเท่าไหร่นัก เพียงแค่คนหนึ่ง implementคนหนึ่งoperate แต่ไอ้ตัวที่ทำให้ต้องเริ่มต่างคือ พวก network admin จะเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้กับพวก network engineer เข้ามาแก้ปัญหาให้ เป็นอันว่าพวก network engineer จึงต้องถูกบริษัทต้นสังกัดบังคับให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ และวิธีที่ดีที่สุดของบริษัทในการบังคับให้พวก network engineer เรียนรู้คือการบังคับสอบ cert เมื่อพวก network engineer ถูกบังคับให้ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ก็กลายเป็นว่าพวก network engineer จะเก่งกว่าพวก network admin ไปโดยปริยาย นี่จึงมักเป็นธรรมเนียมว่าถ้าใครอยากเก่งต้องหาทางเข้าไปอยู่ในพวก SI ให้ได้ กรณีของกลุ่ม network engineer นั้นนานไปๆเขาจะกลายเป็นกลุ่ม networker ในที่สุด
กลุ่ม system administrator
กลุ่ม system admin อธิบายได้เหมือนกลุ่ม network admin ทุกอย่าง แล้วก็มีอีกกลุ่มคือ system engineer อยู่ด้วย กลุ่มนี้จะเน้นเรื่อง server เท่านั้นเช่น AD, mail, file server เป็นต้น ธรรมเนียมก็มีเหมือนกัน อยากเก่งก็ต้องเข้าไปอยู่ใน SI
Networker
ทีนี้มาถึงกลุ่ม networker กลุ่มพวกนี้จะค่อนข้างแปลกนิดนึงตรงที่ว่าจะเน้นเรื่อง network เป็นหลัก เราจะไม่ค่อยเห็นคนกลุ่มนี้ในองค์กรขนาดเล็กหรือกลาง เพราะองค์กรขนาดนี้เขาต้องการคนที่ทำได้ทุกอย่างเช่นพวก admin เป็นหลัก เขาไม่ได้ต้องการคนที่เก่งเฉพาะด้าน เพราะเขามองระบบ IT ของเขาเป็นแค่ส่วนหนึ่งขององค์กรที่จัดเป็นต้นทุน เขาไม่จัดว่าระบบITก่อให้เกิดกำไรกับบริษัท ดังนั้นไม่จำเป้นต้องจ้างคนแพงมากนักมาอยู่ก็ได้ ขอแค่ให้ดูแลให้ระบบใช้งานไปได้เรื่อยๆก็พอ สิ่งที่เขาต้องการจึงเป็นระดับ administrator ทั่วๆไป ทีนี้เราจะเห็นพวก networker ทำงานที่ไหนบ้าง เรามักจะเห็นพวก networker ทำงานอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ๆเช่น Bank, telecom (TA, TT&T, AIS), ISP (Inet, CS loxinfo) และบริษัท SI ขนาดใหญ่ที่เน้นด้าน network เป็นหลักเช่น Datacraft, AIT, IBM. อันที่จริงคำว่า Networker เป็นคำที่ใช้กันอยู่ในกลุ่มของสาย data com คือพวกที่เล่นกับ router, switch, wan อะไรประมาณนี้ ในขณะที่สายด้าน telecom ไม่มีการใช้คำว่าnetworkerเพื่อเรียกตัวเองมาก่อน แต่จะเรียกว่าพวกสาย switching, transmission เป็นหลัก ในช่วงก่อนปี 2000 คนสองกลุ่มนี้แยกตัวออกจากกันค่อนข้างชัดเจน คนไหนที่จบมาแล้วจับพลัดจับผลูได้ไปอยู่สายไหน ก็มักจะได้อยู่สายนั้นไปตลอด เช่นถ้าได้ไปอยู่ Inet เขาก็จะไปทางฝั่งdata com ถ้าจบมาได้ไปอยู่กับ AIS ก็จะได้ไปสาย telecom จนกระทั่งเทคโนโลยี VoIP เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา อันที่จริงมันมีมาตั้งแต่ต้นปี 1990 แล้ว เพียงแต่เริ่มมีการใช้งานในระดับ commercial กันช่วงปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการพูดถึง convergent network, NGN (Next Generation Network) ที่ทำให้เกิดการรวมกันของ voice network และ data network มีกันมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนสองสายนี้เริ่มจะเข้ามาบรรจบกัน แต่เนื่องจากว่าเทคโนโลยีของสาย telecom ซึ่งบางทีผมจะเรียกว่าฝั่ง circuit กับอีกสายคือสาย data com ซึ่งบางทีผมจะเรียกว่าฝั่ง packet นั้นเป็นเทคโนโลยีที่อยู่กันคนละฝั่งแบบซ้ายกับขวาเลย ดังนั้นโอกาสที่คนอีกสายหนึ่งจะก้าวข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งได้นั้นจะต้องเริ่ม เรียนรู้ใหม่หมดเลย เช่นคนที่เคยทำสาย circuit มาสิบปี แต่พอมาเจอเนื้อหา ccna เขาจะต้องมานั่งเริ่มเรียนรู้ใหม่เท่าๆกับเด็กจบใหม่เลย แต่ถ้าใครที่เคยทำสาย packet เช่นพวก ccna ccnp หรือ ccie ก็แล้วแต่ ต้องไปจับพวกswitchฝั่งcircuitก็จะงงเหมือนกัน เพราะเขาจะไม่สามารถadaptไอเดียเข้าหาได้ง่ายๆนัก และที่สำคัญฝั่ง circuit มีคอร์สเรียนน้อยกว่า ราคาแพงกว่า (คอร์สนึงราคาเป็นล้าน!!)ต้องอ่านเอง แถมdocumentก็หาใน internet ไม่ได้ document จะมีอยู่เฉพาะที่ตัว operator เท่านั้น เพราะเป็น technologyของแต่ละเจ้าแยกจากกันโดยสิ้นเชิง ในสาย circuit คุณจะไม่มีวันได้ยิน rip, ospf, hsrp, spanning tree, 802.1q อะไรพวกนี้เลย สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพที่คนทำ network แต่ละสายมองนั้น ไม่สามารถมองข้ามถึงกันได้ คนที่ทำสาย packet อย่างพวก ccna, ccnp, ccie ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดยังไม่เคยได้มองเห็นภาพอีกครึ่งหนึ่งของความเป็น network ที่แท้จริง ในขณะที่อีกกลุ่ม ฝั่งcircuitก็เช่นกันก็นึกภาพการทำงานอย่างพวก routing ไม่ออกว่ามันสามารถเลือกเส้นทางกันเองได้ด้วยเหรอเป็นต้น หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา พวก vendor ทั้งสายcircuitเช่นพวก nokia, ericsson, alcatel, nec และสายpacketเช่น cisco, 3com เริ่มที่จะรุกตลาดเข้าหาอีกฝั่ง ยกตัวอย่างเช่นใน circuit core networkเริ่มมีการนำอุปกรณ์พวก packet switch มาใช้ร่วมด้วยมากขึ้นเช่น ภายในระบบ core swithcingของบางรายเปลี่ยนจากระบบback planeที่เป็นcircuitให้มาเป็นแบบpacketแล้วแทนที่จะdevelopใหม่ก็เอา cisco switch เข้าไปใช้เองเลยเพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ภาพที่ออกมาจึงกลายเป็นว่า ความเป็นcircuitและความเป็นpacketเริ่มปนเปกันถูกใช้งานร่วมกันไปหมด และตัวการสำคัญอีกหนึ่งตัวที่ทำให้ความเป็นconvergent network เกิดเร็วขึ้นคือเทคโนโลยี 3G เช่น cdma2001x, EVDO, EDGE, WCDMA เป็นต้น พวกนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความเป็นcircuitและpacketปนกันตั้งแต่ตอนเริ่ม แรกของการออกแบบเทคโนโลยี มันมีความเป็นcircuitอยู่บนความเป็นpacketและในขณะเดียวกันก็สามารถมีความ เป็นpacketในรูปของcircuitด้วย โปรโตคอลที่ใช้มีความซับซ้อนสูง อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในกระทู้ก่อนว่าเอาแค่เรื่อง OSI 7layerก็เป็นเรื่องยากนั้น สามารถดูจากกลุ่มพวกนี้ได้ บางตัวไล่protocolกันตั้งแต่ชั้นแรก physicalจนขึ้นไปถึงชั้น application แล้ว คุณลองเดาดูว่าถัดจาก application layer ขึ้นไปอีกเป็นอะไร บางคนก็เริ่มงงแล้วว่ามันจะมีอีกได้อย่างไร แต่โทษทีพวกนี้บางตัว ถัดจาก application ขึ้นไปกลับกลายเป็นชั้น data link บางตัวนับ protocol stackได้สิบสองชั้น และมันก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เพราะstandardตัวใหม่ๆออกมาเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของคน คุณเชื่อไหมว่าแค่การจะทำให้มือถือสามารถ play video on demand ได้เนี่ย เบื้องหลังฉากนี่มันซับซ้อนขนาดไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของพวก networker ล้วนๆที่ต้องทำ สาเหตุที่ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพื่อที่จะโยงไปถึงพวก networker อีกกลุ่มหนึ่งคือพวกลูกผสม ซึ่งมีน้อยยิ่งกว่าน้อยในปัจจุบัน พวก networker ลูกผสมจะมีความรู้ความเข้าใจทั้ง circuit และ packet technology ค่อนข้างดี เขาสามารถที่จะintegrateระบที่ประกอบด้วยทั้ง circuitและpacket technology ให้ทำงานร่วมกัน โดยมากคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็น netwoker กลุ่มนี้ได้นั้น มักมาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของสองกลุ่มแรก ถ้ามาจากกลุ่มของสายcircuit เขาก็ต้องมาเริ่มใหม่หมดตั้งแต่ ccna level (ซึ่งมักเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนที่โดนล้างสมองมาตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ กับการทำงานกับcircuit technology มานาน) อีกแบบคือมาจากสายpacket กรณีนี้ก็มีความเป็นไปได้ต่ำมาก เรียกว่าต่ำกว่ากรณีแรกด้วยซ้ำ เพราะเอาแค่คิดว่าจะทำ ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรแล้ว เพราะหาคอร์สเรียนไม่ได้ (คอร์สเป็นล้าน จะเรียนทีต้องสั่งอาจารย์ตรงมาจากเมืองนอก อุปกรณ์ที่จะเล่น ถ้าใครเคยบอกว่า มี cisco router ให้เล่นในบางคอร์สก็ยากแล้วเพราะต้นทุนคอร์สสูง แต่กรณีcircuit base แล้วล่ะก็คุณค้องมีระบบเล็กๆทั้งระบบถึงจะเล่นได้ ก็ประมาณเกือบร้อยล้านได้) หนังสือก็ไม่สามารถหาdownload จาก internet หรือหาซื้อมาได้ มีเพียงโอกาสเดียวเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นได้คือย้ายบริษัทไปอยู่กับพวก operator เช่น AIS, DTAC, Orange หรือ Vendor เช่น Alcatel, Motorola, Nortel, Ericsson, NOKIA เป็นต้น โอกาสเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง แต่ก็ต้องขึ้นกับดวงแต่ละคนด้วยเช่นกัน ถ้าถามว่าทำไมต้องดิ้นรนอยากป็นพวกลูกผสมด้วย ก็จะตอบว่า เงินดี งานท้าทาย เพราะไม่มีงานขนาดเล็กหรือปานกลางให้ทำ มีแต่ขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากเท่านั้น และงานมีทั่วโลก ทั้งประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะมีการวางระบบใหม่ๆค่อนข้างเยอะ
เล่ามาตั้งนานก็เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ทั้งหมดก่อนว่าคำว่า network นั้นมันกว้างใหญ่และซับซ้อนแค่ไหน มันเริ่มได้ตั้งแต่ home networking, net cafe, sme size, enterprise size, campus size, NGN, 3G, 4G(coming soon)
กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องจากที่กล่าวมาทั้งหมดแยกเป็นดังนี้
1. administrator
2. system administrator
3. system engineer
4. network administrator
5. network engineer
6. networker แบ่งเป็นสามพวกย่อย
สาย telecom
สาย datacom
พวกลูกผสม
ทีนี้พูดเรื่องเงินเดือน นี่คือข้อมูลเฉพาะที่ผมรับทราบมาจากคนในวงการและพวก head hunter นะครับ ดูไว้เพื่อเป็นข้อมูลเล่นๆก็พอ
1. administrator 12,000-40,000 บาท
2. system administrator 25,000-60,000 บาท
3. system engineer 25,000- 80,000
4. network administrator 25,000-50,000 บาท
5. network engineer 25,000 - 80,000
6. networker แบ่งเป็นสามพวกย่อย
สาย telecom 17,000 - 60,000 บาท
สาย datacom 50,000 - 130,000 บาท
พวกลูกผสม 50,000 - 400,000 บาท
เงินเดือนพวกนี้ไม่นับกรณีของคนที่ถูก promoteเป็น IT manager นะครับ (IT manager มีรายได้ประมาณ 40,000 -80,000 บาท)
เขียนไปเขียนมาก็ยาวน่าดูเหมือนกัน ยังไม่ได้เข้าเรื่องว่าแนวทางเดินควรเป็นอย่างไรเลย สาเหตุที่ผมอยากเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟัง ก็เพื่อให้มองเห็นภาพทั้งหมดก่อน จากนั้นทุกคนจะต้องคิดและตอบตัวเองให้ได้ว่า ตอนนี้ตัวเราอยู่ที่จุดไหน ระดับไหน มองดูจากเนื้องาน รายได้ ความท้าทาย ความยาก แล้วคิดว่าตัวเราเองอยากไปให้ถึงจุดไหน ถ้าหากย้อนกลับไปดูกระทู้ก่อนหน้านี้ที่ผมเขียนไว้ หลายคนอาจจะมองว่าการจะพยายามให้ได้ขนาดนั้นมันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก น่าจะมีน้อยคนนักที่จะทำได้ มันก็อาจจะจริงอย่างที่คิด แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งผมเชื่อว่าผมได้พิสูจน์มันมาแล้วว่ามันเป็นสิ่งสำคัญและ มีผลอย่างมากคือ ความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่เราจะไปให้ถึง ซึ่งความมุ่งมั่นมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นปลายทางที่เราจะไปชัดเจน ว่ามันเป็นสิ่งที่เราอยากไปแน่ๆ
ผมขอยกตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นให้ฟัง ผมเคยไปสอนวิชา network ที่ มหาลัย IT North Bangkok อยู่ช่วงหนึ่ง ในบรรดานักเรียนที่สอน มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาอยากทำด้าน network อาจจะเป็นเพราะว่าได้ฟังจากที่ผมสอนและเห็นภาพชัดขึ้น ผมตัดสินใจฝึกเด็กกลุ่มนี้ขึ้นมา มีด้วยกัน 5 คน แต่ละคนทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย และไม่มีใครได้ทำงาน IT อย่างจริงจัง คนหนึ่งเป็น admin (ธุรการ) หมายถึงadminจริงๆ ที่ทำงานเอกสารในบริษัท คนหนึ่งทำอยู่โรงงาน คนหนึ่งทำงานใช้แรงงาน อีกสองคนเป็นผู้ช่วยในฝ่าย IT แต่หน้าที่หลักแทบไม่ได้เกี่ยวกับ IT มากนัก เรื่องภาษาอังกฤษคุณคงประเมินได้ว่าเด็กพวกนี้จะระดับไหน เด็กพวกนี้จบมาสายปวชทั้งหมด (ทุกวันนี้พวกนี้อ่านแต่ text book ทั้งนั้น) ตอนเรียนกลุ่มนี้จะโดนผมเคี่ยวมากที่สุด ตอนสอบfinal ทุกคนในห้องสอบ 100 ข้อสามชั่วโมง แต่เด็กห้าคนนี้ผมบังคับให้ข้อสอบเพิ่มอีก 50 ข้อในเวลาเท่าเดิม โดยต้องแอบไม่ให้อาจารย์คุมสอบอีกคนรู้ โดยแอบยัดไส้ไปในห้องสอบเลย คนอื่นผมอนุญาติให้ใช้ dict ได้ แต่ 5 คนนี้ผมไม่ให้ใช้ ตอนสอบอาจารย์คุมสอบอีกคนเห็นว่าเขาไม่มี dict ก็อุตส่าห์ไปหา dict จากห้องสมุดมาให้พวกเขา ผมก็แอบไปดึงกลับมาคืนไม่ให้ใช้ แต่อันที่จริงพวกเขาไม่ยอมเปิดมันเองด้วยแหละ สอบรอบเช้าเสร็จคนอื่นกลับบ้านได้ แต่เด็กพวกนี้ผมจับสอบอีกรอบเพิ่มในช่วงบ่ายโดยจัด environment เหมือนกับการ สอบ cert จริงทั้งเรื่องจำนวนข้อสอบ ความยาก เวลา โดยสอบกันในห้องสมุด ตลอดช่วงที่สอนอยู่หลายเดือนผมบังคับท่องศัพท์ ทุกอาทิตย์ต้องเอาสมุดจดมาให้ดู บางทีผมก็สุ่มถามเลยว่าท่องจริงหรือเปล่า เด็กกลุ่มนี้โดนผมเคี่ยวหนักมาก แต่ไม่มีใครยอมแพ้ ทุกวันนี้ 5 คนนี้มี 4 คน มี cert ติดตัวกันหมดแล้ว และก็กำลังพยายามก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ เขาเองเจออุปสรรคหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเห็นคือเขาพยายามก้าวไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด บางคนหยุดไปบ้างแต่ก็พยายามกลับมาเดินต่อ บางคนช้ากว่าเพื่อน คือคนที่ 5 สอบมาสองครั้ง ตกสองครั้ง แต่ก็ไม่ลดละอยู่ดี ถึงแม้จะไม่ได้มีโอกาสเจอนานแล้ว แต่ผมก็เฝ้าดูอยู่ เด็กกลุ่มนี้ในวันข้างหน้าผมเชื่อว่าเขาจะไปได้ไกล เพราะเขามีเป้าหมายและมุ่งมั่น
ที่เล่าถึงเด็กกลุ่มนี้ให้ฟังก็เพื่อจะบอกว่า ถ้าใครก็แล้วแต่ที่คิดแต่เพียงว่า คงมีไม่กี่คนที่จะทำได้เพราะต้องใช้ความพยายามสูงเราไม่น่าจะรอด ก็ลองดูตัวอย่างเด็กกลุ่มนี้ดูล่ะกัน แล้วลองถามตัวเองดูว่าที่ตัวเองคิดอยู่นั้นมันจริงเหรอ มันคือมารที่มาขัดขวางเราหรือไม่ ลองคิดให้ดี
ถ้าคุณเดินอยู่กลางทะเลทราย แล้วรู้แน่ๆว่าเดินไปทางนี้แล้วคุณจะเจอน้ำแน่ๆ คุณจะเดินไปหรือไม่ ผมเชื่อว่าทุกคนจะเดินไป แต่ในโลกความเป็นจริงมันกลับกลายเป็นว่า คุณอยู่กลางทะเลทราย แต่คุณแค่พอจะรู้มาว่าไปทางนี้จะมีน้ำรออยู่ แล้วพอเดินไปซักพักก็ยังไม่เจอน้ำซักที คราวนี้อาการเขวก็จะเริ่มเกิดขึ้นในใจโดยไม่รู้ตัว คราวนี้ทิศทางเดินก็เริ่มเป๋ไปเป๋มา สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน เพราะไม่มั่นใจในทางที่เดิน ดีไม่ดีหาน้ำก็ไม่เจอ
ข้อสำคัญคือคุณเห็นภาพข้างหน้าหรือยัง (นั่นคือสิ่งที่พยายามเล่าให้ฟังในตอนแรก) คุณเชื่ออย่างมั่นใจไหมว่ามันคือสิ่งที่คุณอยากจะไปจริงๆ คุณจะเจออุปสรรคข้างหน้าอย่างลำบากยากเย็นแน่นอน กว่าจะไปถึง แล้วคุณจะว่าไง มั่นใจไหมที่จะไป ศรัทธาในทางที่จะเดินหรือไม่ ถ้าคุณมั่นใจและมุ่งมั่นที่จะเดินไป ผมก็จะแนะนำให้ฟังว่าคุณจะเจออะไร คุณต้องทำอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ต้องพึงระวัง อะไรคือสิ่งที่ต้องปรับปรุงตัวเอง
ผมขอหยุดช่วงแรกไว้ที่จุดนี้ก่อน แต่อยากให้ทุกคนที่สนใจและคิดว่าสิ่งที่อ่านมีประโยชน์ หรือแม้กระทั่งจะกล้าประกาศว่าผมจะเดินไป ช่วยบอกทางให้ด้วย ก็ให้postเอาไว้ที่นี้ ผมจะได้นำสิ่งที่แต่ละคนสนใจมาประมวลและเรียบเรียงให้อ่านอีกทีครับ
ข้อแนะนำ ให้อ่านสิ่งที่เล่าให้ฟังหลายๆรอบเพื่อให้มองภาพทั้งหมดให้ชัด อีกอย่างโดยปกติคุณจะไม่มีโอกาสได้ยินเรื่องพวกนี้จากที่ไหนอีกแล้ว
อ่านเจอที่เว๊ปเลยเอามาฝากกัน มีไรดีๆแล้วจะเอามาให้อ่านนะครับ จาก นุจัง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น