6/14/2556

เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtualization)

http://www.cisco.com/web/TH/about/assets/images/cloudbased.jpg


ในโลกของวงการไอที เรามักจะเห็นวงจรการพัฒนาที่ค่อนข้างเหมือนเดิมซ้ำๆ มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว นั่นคือการพัฒนาในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ ที่ดูเหมือนจะแข่งกันว่าใครจะล้ำหน้ากว่าใคร บางทีฮาร์ดแวร์สามารถพัฒนาจนมีความเร็ว และหน่วยความจำมากพอเกินกว่าที่ซอร์ฟแวร์ต้องการใช้ บางครั้งก็เป็นจังหวะที่ซอร์ฟแวร์มีความล้ำหน้า จนไม่สามารถหาฮาร์ดแวร์ที่เร็วพอจะวิ่งได้ อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันนี้ ที่มีฮาร์ดแวร์ซึ่งถูกพัฒนามาจนมีสมรรถนะสูง และหน่วยความจำมากมายจนเกินพอ สำหรับซอร์ฟแวร์หรือแอพพลิเคชั่นหลาย ๆ ตัวเลยทีเดียว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีซอร์ฟแวร์ หรือแอพพลิเคชั่นอีกมากที่ยังต้องการฮาร์ดแวร์ ที่มีประสิทธิภาพสูงๆ เพื่อให้เพียงพอกับภาวะการใช้งานที่มีผู้ใช้จำนวนมหาศาล หรือมีทำรายการอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดได้ ทำให้เริ่มเกิดช่องว่างระหว่างแอพพลิเคชั่น ที่ต้องการทรัพยากรมากๆ (อันเกิดจากภาวะการใช้งานจริง) กับแอพพลิเคชั่นอื่น ๆ ทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวความคิดที่จะพัฒนาอุปกรณ์ “เสมือนจริง” เพื่อเติมเต็มช่องว่างของแอพพลิเคชั่น และฮาร์ดแวร์ต่างๆ ขึ้น และด้วยเทคโนโลยีนี้ยังสามารถพัฒนา ต่อยอดให้เกิดการให้บริการ “เสมือนจริง” จากทางด้านแอพพลิเคชั่นให้แก่ผู้ใช้ด้วย ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้ผู้เขียนขออนุญาต ใช้คำว่าเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ Virtualization

แนวคิดของเทคโนโลยีเสมือนจริง คือการที่จะรักษาระดับการให้บริการ หรือที่มักเรียกติดปากว่า “SLA” (Service Level Agreement) ให้กับผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วเพียงพอของแอพพลิเคชั่น หรือบริการใดๆ ก็แล้วแต่ ดังนั้นการให้บริการกับผู้ใช้ของแอพพลิเคชั่น จะไม่ผูกติดกับฮาร์ดแวร์จริงใดๆ เพื่อที่จะสามารถดึงเอาทรัพยากรต่างๆ ในระบบมาใช้วิ่งงานได้อย่างเต็มที่ และต่อเนื่องคล้ายๆ กับว่าแอพพลิเคชั่นนั้นกำลังวิ่งอยู่บน “เครื่องเสมือนจริง” นั่นเอง โดยหลักใหญ่แล้วทรัพยากรสำคัญๆ ที่เป็นที่สนใจในขณะนี้ก็คือซีพียู (หมายรวมถึงหน่วยความจำแรมที่ใช้งานด้วย) และระบบจัดเก็บข้อมูล

เครื่องเสมือนจริงที่วิ่งแอพพลิเคชั่นอยู่นั้น สามารถที่จะดึงกำลังของซีพียู ของเครื่องจริงเครื่องใดที่ยังเหลือ หรือว่างอยู่มาใช้งานได้ และในทำนองเดียวกันมันสามารถเก็บข้อมูลลงบน “ฮาร์ดดิสก์เสมือนจริง” ซึ่งที่จริงก็คือเก็บข้อมูลลงบนฮาร์ดดิสก์จริงที่อยู่ที่ไหนก็ได้ ด้วยหลักการทำงานแบบนี้จะเห็นว่า แอพพลิเคชั่นสามารถวิ่งให้บริการผู้ใช้ อยู่บนฮาร์ดแวร์จริงได้หลายๆ เครื่อง ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการบริการอย่างสูง ถึงแม้จะมีฮาร์แวร์จริงบางเครื่องที่มีปัญหา หรือเสียจนใช้งานไม่ได้ก็ไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการ นอกจากนี้แอพพลิเคชั่นเองยังมีประสิทธิภาพ ของการให้บริการที่ดีอีกด้วย โดยลักษณะการใช้งานในปัจจุบันเรา มักจะจัดกลุ่มของเซิร์ฟเวอร์ไว้อยู่ด้วยกัน เป็นเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มอยู่แล้ว เทคโนโลยีเสมือนจริงนี้จะเข้ามาช่วย ให้การใช้งานเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเรายังอาจขยายการใช้งานติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ฟาร์ม ออกไปยังศูนย์สำรองได้อีกด้วย เรายังใช้ลักษณะเดียวกันนี้ กับระบบจัดเก็บข้อมูลซึ่งสามารถออกแบบ ให้มีระบบจัดเก็บข้อมูลจริงอยู่สองถึงสามชุด ที่ศูนย์หลัก และศูนย์สำรองได้ด้วยเช่นกัน โดยแอพพลิเคชั่นหรือเซิร์ฟเวอร์จะมองเห็น เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลเพียงชุดเดียว

ถึงจุดนี้จะเห็นว่าเทคโนโลยีเสมือนจริง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีระบบเครือข่าย ที่มีประสิทธิภาพ และความอัจฉริยะเพียงพอที่จะรองรับการทำงานเหล่านี้ เพื่อเชื่อมต่อทรัพยากรจริงทั้งหลาย ให้กลายเป็นทรัพยากรเสมือนได้ ฉะนั้นปัจจัยหลักพื้นฐานที่จะสร้างระบบเสมือนจริง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ การเตรียมระบบเครือข่ายอัจฉะริยะเสียตั้งแต่วันนี้

ตอนนี้คงมองเห็นถึงการเกิดเซิร์ฟเวอร์ และระบบเก็บข้อมูลเสมือนจริงกันแล้ว ในอนาคตตัวแอพพลิเคชั่นเอง หรือบริการของแอพพลิเคชั่นที่ให้กับผู้ใช้ หรือให้กับแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ก็จะเป็นแบบเสมือนจริงได้ด้วย กล่าวคือการเรียกใช้บริการต่างๆ จากแอพพลิเคชั่น ผู้ใช้ (หรือแอพพลิเคชั่นอื่นที่เรียกใช้บริการ) ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าบริการเหล่านั้น อยู่ที่ใด หรืออยู่บนเซิร์ฟเวอร์เครื่องไหน แต่จะเรียกใช้บริการจากเครือข่ายได้โดยตรง โดยระบบเครือข่ายเองจะเป็นผู้มีหน้าที่ จัดหาบริการเหล่านั้นมาบริการให้เอง ซึ่งจะเห็นว่าระบบเครือข่ายเริ่มที่จะขยายขอบเขต การบริการล้ำเข้าไปในฝั่งของแอพพลิเคชั่นมากขึ้น เราอาจเรียกระบบเครือข่ายนี้ว่า “เครือข่ายเชิงแอพพลิเคชั่น” หรือ AON (Application Oriented Network)

เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtualization)

โดย มงคล อัศวโกวิทกรณ์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมระบบ

บทความจากซิสโก้ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น