10/07/2553

Photoshop การรวมรูปแบบไม่มีรอยต่อ ตอนที่3(ตอนจบ)


การรวมรูปแบบไม่มีรอยต่อ ตอนนี้เป็นตอนจบนะครับ เป็นตอนที่จะนำไปใช้จริง ผมจะลองทำตัวอย่างให้ดูว่าเขานำไป
ประยุกต์ใช้อย่างไร ส่วนใครที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กลมกลืนแค่ไหนผมบอกได้เลยครับว่าขึ้นกับการฝึกฝนครับผมว่า Photoshop ไม่มีใครเก่งกว่าใครหรอกครับ มันขึ้นกับว่าใครรู้เทคนิคมากกว่าใครเป็นสำคัญครับ เพราะคนที่รู้เทคนิคมากกว่าย่อมตัดต่อได้เนียนกว่า ใช้เวลาน้อยกว่าครับ ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็พยายามใช้เทคนิคบ่อยๆนะครับ ผมกล้าบอกได้เลยว่าช่วงแรกๆมือใหม่จะใช้วิธีการจำครับ จำว่าขั้นไหนทำอะไร พอเราซ้อมไปซักพัก มันจะเป็นความเข้าใจครับ เราจะเข้าใจหลักการทำงานของมัน จากนั้นการใช้แบบประยุกต์จะเกิดขึ้นมากมาย และดูมีฝีมือขึ้นเรื่อยๆครับ อีกอย่างหนึ่งที่อยากบอกมานานแล้วครับคือ ผมพยายามไม่ใช้การอธิบายแบบภาษาคอมพ์ซักเท่าไหร่ครับ เพราะผมเชื่อว่ายิ่งทำให้มือใหม่เบื่อเร็วเท่านั้น ผมพยายามใช้การอธิบายแบบเปรยบเทียบกับสิ่งที่มีในชีวิตประจำวันของผู้อ่านให้มากที่สุด เพราะผมคิดว่ามันสื่อให้เขาเข้าใจหลักการของเทคนิคมากกว่า ส่วนถ้าใครชอบอ่านที่มันเป็นภาษาเทคนิคล้วนๆจริงๆ ผมว่าก็แค่คลิกอ่าน Help ของโปรแกรมมันก็จะสอนไว้ทุกเครื่องมือนะครับ แต่จะใช้ยังไงจริงๆนี่ซิสำคัญครับ มาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ
พูดถึงเครื่องมือเกลี่ยสี Gradient Tool กันก่อนครับ เพราะมันเป็น 1 ใน 2 พระเอก ที่ทำให้เรารวมรูปแบบไม่มีรอยต่อได้ราบรื่น(ซึ่งพระเอกตัวที่ 2ก็คือ Layer Mask นั่นเองครับ) Gradient Tool เป็นเครื่องมือที่เกลี่ยสีได้ทุกสีครับ ไม่ใช่เฉพาะขาว-ดำแต่ที่เราพูดถึงในตอนปูพื้นฐานก็เพราะว่า มันสำเร็จรูปนั่นเองครับ คือแค่คลิกแล้วลากจากจุด 1ไป 2 มันก็จะเกลี่ยสีให้จากสีที่เราเลือกไว้จาก Foreground--->Background แต่เนื่องจากมันสำเร็จรูปนั่นเอง เลยทำให้เรามีรูปแบบตัวเลือกในการเกลี่ยน้อยมาก คือประมาณ 5 แบบ คือ 1.แบบแนวหน้ากระดาน,2. แบบวงกลม... ,5.แบบเพชร คำถามคือ ถ้าเราอยากทำแบบอื่นล่ะ เช่นรูปหัวใจ รูปอื่นๆตามใจชอบเราแล้วเราจะทำยังไง  นี่ไงครับ คือที่มาของบทความนี้ที่จะแนะวิธีประยุกต์

ดังนั้นขอให้จำจุดสำคัญๆต่อไปนี้ไว้นะครับคือ
1.Layer Mask คือตัวบังรูปที่เราสร้างขึ้น ดังนั้นแต่ละรูปสามารถมี Mask ของตัวเองได้
2.สีดำในMask ส่งผลให้รูปที่ผูกโซ่กับมันไว้โปร่งแสง จนเห็นรูปด้านหลัง
3.Mask ที่บังต้องค่อยๆเกลี่ยส่วนบังไปหาส่วนไม่บัง(ดำ-->ขาว) โดยให้ค่อยๆเห็นจากรูปหนึ่งไปยังอีกรูปหนึ่ง
4.ถ้าไม่เกลี่ยสีในการบัง Mask ก็ไม่มีความหมาย เพราะภาพจะกระโดดจากจุดบังไปจุดไม่บัง จึงเห็นรอยต่อ
1.สร้างพื้นที่ทำงานให้มีพื้นหลังสีขาวขึ้นมา 1 อัน เพื่อเป็นที่ในการใช้ตัดต่อรูปครับ
2.ผมจะcopy รูปน้ำตกและนำเข้ามาเป็นตัวเอก(Layer 1)ของรูปนะครับ

3.ผมจะcopy รูปดอกไม้ (Layer 2) และนำเข้ามาซ้อนบนรูปน้ำตก พร้อมกันนี้ผมจะ สร้างMask ให้มัน 1อันครับ

4.คลิกเลือกเครื่องมือ Lasso Tool(เลือกพื้นที่แบบอิสระ) รูปห่วงเชือก แล้ววาดลงบนดอกไม้เป็นรูปหัวใจ แล้วคลิกขวาเลือก Select Inverse เพื่อกลับพื้นที่ในการเลือกจากรูปหัวใจ เป็นรูปรอบๆหัวใจแทน

5.จากนั้นเลือก Edit > Fill... > Black  เป็นการเทสีดำลงบน Mask เพื่อกำหนดให้พื้นที่รอบหัวใจมองไม่เห็น

6.เราจะได้ดอกไม้รูปหัวใจจากการบังของ Maskที่มีขอบชัดเจน นั่นเนื่องจากว่า Mask ยังไม่มีการเกลี่ยสีนั่นเอง

7.ก่อนอื่นให้ทำการยกเลิกการเลือกพื้นที่โดยการคลิกที่พื้นที่ด้านนอกพื้นที่ๆเราทำงานก่อน เพราะถ้าเราไม่ยกเลิกแล้วทำการเกลี่ยสีทันที มันจะเกลี่ยเฉพาะพื้นที่ ที่มีเส้นประSelection อยู่ครับ เมื่อยกเลิกการเลือกพื้นที่แล้วต่อมาเราทำการเกลี่ยสีให้กับ Mask ทั้งอัน(ทั้งขาวและดำ)ด้วยการ เลือก Filter > Blur > Gaussian Blure... ดังรูปครับ


8.ต่อมาผมจะcopy ภาพดวงตา(Layer 3)และวางลงบนพื้นที่ทำงานจากนั้นก็ Add Layer Mask ให้มัน 1 อันดังรูปครับ

9.ทำเหมือนขั้นตอนก่อนหน้านี้ครับคือเลือกเครื่องมือ Lasso Tool ทำการลากพื้นที่รอบๆดวงตา (วิธีที่ลากแล้วออกมาสวยก็คือก่อนลากให้ตั้งค่า Feather = 20 pxl ก่อนนะครับ เวลาลากออกมาไม่ว่ามันจะยึกยือแค่ไหนมันจะปรับรูปร่างสมมาตรให้ครับ

10.ทำเหมือนภาพก่อนหน้าครับคือ คลิกขวาบนดวงตา เลือก Selection Inverse เพื่อเลือกพื้นที่รอบๆดวงตาแทนครับ แล้วเลือก Edit > Fill... > Black (ก็จะทำการเทสีดำลงบนMask รอบๆดวงตาทำให้มองเห็นแต่ดวงตาครับ)

11.สังเกตจุดที่ผมวงสีแดงไว้นะครับ นั่นคือส่วนที่โผล่มาเพราะสีดำไปบังส่วนนั้นไม่พอ ทีนี้เรามาตามเก็บงานครับ หลักการคือเราเทสีดำเพื่อบังใช่ไหมครับ เมื่อมีบางจุดโผล่แสดงว่าสีดำมันขาดในจุดนั้นเราก็ต้องไปเติมสีดำให้มันเฉพาะจุดนั้นใช่ไหมครับให้เราทำการเลือกหัวแรงBrush คลิกสลับถาดสีเป็นสีดำอยู่ด้านหน้าแล้วเอาหัวแปรงไปทาจุดสีดำใต้ขอบตา   อย่าลืมนะครับความจริงเราไม่ได้ทาลงไปที่ภาพ สีดำที่เราทาลงไปความจริงมันกำลังทาที่Mask ที่ผมวงสีแดงไว้ครับ ดังรูป


12.ผลจากการเก็บงานเราก็จะได้ดังรูปครับ ทีนี้ไม่ว่าจะซ้อนกี่รูป จะบังออกมาเป็นรูปหัวใจ ดวงดาว อื่นๆอีกมากมาย เราก็ทำได้เป็นอิสระแล้วใช่ไหมครับ ดังนั้นพวกรูปการบังสำเร็จรูปที่เขาให้มาก็กลายเป็นของธรรมดาไปเลยใช่ไหมครับ

ทบทวนจุดสำคัญครับ
1.วางรูปแล้วสร้างMask ทันที(สร้างแล้วจะใช้ไม่ใช้ก็ได้)
2.เลือกพื้นที่ที่ต้องการ แล้วกลับพื้นที่ด้วย Selection Inverse เพื่อจะเทสีดำใส่มัน
3.เทสีดำใส่พื้นที่ที่บังแล้ว มันจะยังมีขอบอยู่เพราะยังไม่ได้เกลี่ยสี
4.ยกเลิกการเลิกพื้นที่ก่อน แล้วทำการเกลี่ยสีใน Mask ทั้งอัน ด้วย Filter > Blure > Gaussian  Blure..
5.เก็บงานโดยเติมสีดำลงMask ในจุดที่ต้องการบังเพิ่ม หรือ เติมสีขาว ในจุดที่ต้องการเห็นครับ
ผมอธิบายยืดยาวไปหน่อยเพราะอยากให้เข้าใจแบบง่ายที่สุดครับ เพราะจุดนี้ผมศึกษาด้วยตนเองบอกตรงๆครับว่า งง ที่สุด และซ้อมมือนานมากกว่าจะเข้าใจเพราะไม่มีใครสอนครับ อ่านหนังสือเองก็ไม่มีเล่มไหนบอกว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เขาบอกแค่ว่าเลือกนั่นเลือกนี่ เทนั่นเทนี่ เสร็จ จบ  อ่านเสร็จก็ งง งง งง และก็ งง ครับ ผมจึงเห็นใจคนที่ศึกษาใหม่ๆเลยร่ายยาวนิดนึงครับ ใครติดตรงไหนถามได้นะครับ ผมไม่ค่อยได้ตอบคอมเมนต์ แต่ก็ขอบพระคุณทุกท่านที่เสีสละเวลาเข้ามาอ่านและคอมเมนต์ให้ครับ ขอบพระคุณทุกท่านครับ
ที่มาของรูปเพื่อประกอบตัวอย่างอธิบาย : จากอินเตอร์เนต

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น