5/15/2555

เพื่อสีที่ถูกต้องสมจริง เรามา Calibrate หน้าจอ Monitor กันเถอะ

>>> ในหน้าสุดท้ายมีกิจกรรมเล่นเกมกันสนุกๆ ด้วย อย่าลืมมาร่วมเล่นกันนะครับ
คุณเคยประสบปัญหาเช่นนี้หรือไม่ แต่งภาพบนหน้าจอตัวเองว่าสีสวยแล้ว พอส่งไฟล์ไปให้เพื่อนกับพบว่าสีไม่เห็นเหมือนบนจอเราเลย ทั้งมืด ทั้งเพี้ยน แล้วไหนจะเอาไปอัดอีก สีไปกันใหญ่เลยคราวนี้
calib
วันนี้ LCDSPEC.COM เรามีคำตอบมาให้ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า จอภาพและอุปกรณ์แสดงผลภาพทำงานโดยมี Color Space ที่ต่างกัน
CIE 1931 color space
Color Space แบบ 2 มิติ
โดยหากจอไหนที่มี Color Space ที่กว้างจะให้ความสดใสภาพได้มากกว่าจอที่มี Color Space แคบ เช่นจอที่เป็นชนิด LED LCD Monitor จะมี Color Space ที่กว้างกว่า จอชนิด CCFL LCD Monitor เป็นต้น
แล้ว Color Space มันคืออะไร ?
Color Sapce ของ Monitor ก็คือขอบเขตของการแสดงสีของจอภาพนั้นๆ ว่าสามารถแสดงสีได้มากน้อยแค่ไหน เป็นที่มาว่าทำไมแต่ละจอถึงให้สีที่มีความสดไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องมีการทำ Color Profile เข้ามาช่วยในการควบคุมให้มีการแสดงสีให้มีค่าใกล้เคียงกันมากที่สุด เนื่องจาก Color Profile นี้จะทำหน้าที่เสมือนแผนที่ที่บอกว่าสีที่ต้องการนี้อยู่ที่ตำแหน่งไหนของ Color Space ที่ใช้อยู่ เช่น ถ้าส่งคำสั่งแสดงสี 200,0,0 ไปให้ Monitor A จะได้สีแดงเข้มๆ แต่ถ้าส่ง 200,0,0 เช่นกัน ไปให้ Monitor? B จะได้สีแดงที่สว่างขึ้น ถ้าต้องการให้ Monitor A และ Monitor B แสดงสีออกมาเหมือนกัน ก็จะจำต้องที่จะต้องทำแผนที่สีที่ว่าไปเมื่อกี้ ซึ่งสีถ้าใช้ Color Profile บน Color Space ของ Monitor A สีแดงเข้มอยู่ที่ 200,0,0 แต่สีแดงเข้มบน Color Space ของ Monitor B อาจจะอยู่ที่ 190,0,0 ได้ การทำงานเช่นนี้จะมีการแปลงโปรไฟล์สีเกิดขึ้น เพื่อให้ได้สีที่ถูกต้อง
แล้วโปรไฟล์สีนี้จะได้มาอย่างไร โดยทั่วไป ผู้ผลิตจอมอร์นิเตอร์จะมีการทำโปรไฟล์สีของจอรุ่นนั้นๆ อยู่แล้ว แต่ด้วยการผลิตอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์มันก็ไม่สามารถที่จะทำให้อุปกรณ์มีการ แสดงผลได้ตามต้นแบบ 100% ได้ และถ้าสังเกต จะเห็นว่าจอที่ใช้ไปนานๆ จะมีอากาเหลืองเกิดขึ้น เนื่องจากหลอด back light หรือภาคจ่ายไฟให้หลอด back light เริ่มเสื่อม ซึ่งนั่นก็ทำให้การใช้โปรไฟล์สีเดิมไม่สามารถใช้การได้นั่นเอง เราจึงควรที่จะทำโปรไฟล์สี หรือแผนที่สีบนจอขึ้นมาใหม่เพื่อให้ได้สีที่แสดงออกมายังตรงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งการสร้างโปรไฟล์สีนี้ก็คือการ Calibrate หรือการปรับเทียบหน้าจอนั่นเอง
โดยการ Calibrate สามารถทำได้ 2 วิธีหลักด้วยกัน คือการใช้สายตาในการปรับเทียบ ซึ่งวิธีนี้จะมีความแม่นยำที่ค่อนข้างต่ำ แต่สามารถใช้ได้ถ้าไม่ได้ที่จริงจังเรื่องการใช้สีมากนัก แต่ถ้าต้องการความแม่ยำที่สูงขึ้นจะใช้พวก Hardware ประเภท Spectophotometer หรือ Colorimeter ในการปรับเทียบ
—–
การ Calibrate หน้าจอด้วย สายตา (Windows 7) :
การ Calibrate ด้วยวิธีนี้ ทีมงาน LCDSPEC.COM ขอบอกไว้ก่อนว่า?ผู้ใช้ต้องใช้ความแม่นยำในการพิจารณาสีพอสมควร และค่อนข้างมีปัญหาบ้างกับคนที่ตาบอดสี เนื่องจากเป็นการใช้สายตาในการปรับเลื่อนให้สีมีค่าเข้าใกล้สีขาวมาตรฐานมากที่สุด
งานนี้ขอใช้ Calibrate Color ของ Windows 7 นะครับ ถือว่าเป็น Tool นึงที่สะดวยเลยที่เดียวก็ว่าได้ ไม่ต้องไปเสียเวลาหา Adobe Gamma มาลงให้เสียเวลา
เอาหล่ะก่อนจะเริ่ม calibrate เรามาเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และพื้นที่กันหน่อยดีกว่านะ
1. แสงสว่างในห้องต้องเหมาะสม ไม่มีแสงวูบวาบ หรือมีการฉายไฟเข้าจอโดยตรง
2. ผนังห้องควรมีสีใกล้เทากลางจะยิ่งดี เพราะสายตาเราจะวัดแสงและสีจากฉากและผนังรอบๆ จอด้วย
3. ตั้งค่าทั้ง จอ และ การ์ดจอ ให้เป็นค่าเริ่มต้น หรือ Factory Default
4. Wallpaper ควรเป็นภาพที่เป็นเฉดเทา
5. เปิดจอไว้อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้หลอดจอ (CRT) หรือหลอด Back Light (LCD) ร้อนพอและให้แสงที่คงที่
ได้ตามนี้แล้ว มาทำการ Calibrate กันเลยดีกว่า
LCDSpec_Calibrate_Monitor_002
เริ่มด้วยจากการเข้าไปที่ Control Panel
สำหรับคนที่ใช้มุมมองแบบ Category ให้เลือกที่ Appearance and Peraonalization > Display > Calibrate color
ส่วนใครใช้มุมมองแบบ Large/Small icons (Classic) ให้เลือกที่ Display > Calibrate color ได้เลย
LCDSpec_Calibrate_Monitor_003
หลังจากเข้าโปแกรมแล้ว หาเรามี Monitor หลายตัว ก็สามารถเลือกได้ที่จะทำการ Calibrate ที่ Monitor ตัวไหนก็ได้โดยการลากหน้าต่าง Calibrate Monitor (ตามภาพ) ไปวางไว้ที่หน้าจอนั้นๆ จากนั้นทำการกด Next
LCDSpec_Calibrate_Monitor_004
ในขั้นตอนถัดมาจะเป็นการบอกถึงการตั้งค่าว่า เราควรตั้งค่าอย่างไรก่อนที่จะเริ่มทำการ Calibrate หน้าจอ โดยขั้นตอนที่ต้องทำก็ง่ายๆ เพียงแค่กดเมนูขึ้นมา แล้วทำการ Reset การตั้งค่าให้เป็นค่าเริ่มต้นเสียก่อน (Factory default) และถ้าหาก OSD Menu ของจอนั้นเลื่อนได้ ก็แนะนำให้เลื่อนไปอยู่ในจุดที่ดูไม่เกะกะ กับการอ่านวิธีในขั้นตอนต่อๆ ไป เมื่อได้ตำแหน่งที่เรียบร้อยแล้วจากก็กด Next กันได้เลยครับ
LCDSpec_Calibrate_Monitor_005
เริ่มจากการตั้งค่า Gamma ก่อน ด้วยการปรับค่าแบบง่ายๆ เลื่อนแถบ Slide bar ให้จุดสีที่อยู่ตรงกลางมีสีกลืนกันกับสีที่เป็นวงนอก โดยในภาพจะเป็นตัวอย่างของค่า Gamma ที่เหมาะสม ก็คือจุดที่อยู่กลางวงกลมจะดูกลืนไปกับสีพื้นที่อยู่รอบๆ จุดนั้น แล้วถ้าหากจุดตรงกลางเป็นสีขาว แสดงว่าค่า Gamma นั้นต่ำไป และในทางกลับกัน ถ้าจุดตรงกลางดูสีเข้มกว่าพื้นที่โดยรอบ แสดงว่าค่า Gamma นั้นสูงเกินไป เมื่อเราทำความเข้าใจกับการตั้งค่า Gamma แล้วหล่ะก็กด Next ต่อได้เลย
LCDSpec_Calibrate_Monitor_006
คราวนี้มาเป็นการปรับ Gamma จริงกันซะที ก็แค่เลื่อนแถบ Slide ให้สีจุด กับสีพื้นมันกลืนกันเป็นอันเสร็จพิธี กด Next ต่อครับ
LCDSpec_Calibrate_Monitor_007
หลังจากเสร็จสิ้นการตั้งค่า Gamma ให้กับหน้าจอ คราวนี้มาถึงการปรับค่าความสว่าง และค่าคอนทราสต์ เพื่อให้ได้แสงที่เหมาะสมในการใช้งาน แต่หากใครใช้โน็ตบุค โดยมากจะไม่สามารถปรับค่าเหล่านี้ได้ ก็สามารถกด Skip brightness and contrast adjustment เพื่อข้ามไปยังการปรับค่าสมดุลสีได้ทันที แต่ถ้าหากปรับค่าได้ ก็ให้กด Next เพื่อทำการปรับความสว่างของหน้าจอก่อน
LCDSpec_Calibrate_Monitor_008
การปรับ Brightness ที่เหมาะสม ลองดูที่ภาพนะครับ จะมีทั้งสีขาว ดำ ดำมาก และเงาดำ โดยต้องปรับให้เห็นสีทั้งหมดที่ว่าครับ ไม่ใช่ มืดจนไม่เห็นเงาดำในสีดำ หรือสว่างจนสีดำดูไม่ดำ ดูข้อตกลงแล้วก็ไม่ยากใช่มั้ยครับ กด Next ต่อดีกว่า
LCDSpec_Calibrate_Monitor_010
เมื่อรู้รูปแบบการปรับแล้ว ก็ลงมือตั้งค่าเลยละกัน ทำการกด เมนูขึ้นมา เข้าไปที่ส่วนการตั้ง Brightness ทำการเพิ่มหรือลดแสงเพื่อให้เห็น รายละเอียดบนเสื้อสูท และตัว X ที่อยู่บนฉากสีดำด้านหลัง โดยที่ส่วนสีดำต้องดูเป็นสีดำอยู่เหมือนเดิม หลังจากได้ความสว่างที่เหมาะสมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็กด Next เพื่อทำการปรับค่าคอนทราสต์ต่อเลยละกัน
LCDSpec_Calibrate_Monitor_011
ตอนนี้ก็มาถึงการตั้งคอนทราสต์ของจอกันแล้ว โดยภาพก็จะยังเป็นโทนขวา-ดำเหมือนเดิม การปรับในครั้งนี้จะให้สังเกตในส่วนของรอยยับบนเสื้อ และความใสภาพเป็นหลักก็แล้วกัน โดยถ้าหากคอนทราสต์เราสูงเกินไป รอยยับบนตัวเสื้อจะมองไม่เห็น จะดูว่าเสื้อขาวไปหมดทั้งตัว แต่ถ้าคอนทราสเราต่ำไป ภาพจะดูหมองๆ สีดำก็ไม่ดำออกจะเทาๆ ไปนิด เพราะฉนั้นค่าที่เหมาะสมจึงเป็นค่าที่ทำให้ส่วนขาวดำในภาพ ดูสีตัดกันมากที่สุด และบนตัวเสื้อเห็นรอยยับได้ชัดเจน ดูรูปแบบการปรับแล้วก็มาปรับจริงกันซะที กด Next
LCDSpec_Calibrate_Monitor_012
และแล้วเราก็มาปรับคอนทราสต์จริงๆ ซะที กดเมนูขึ้นมา ไปที่ Contrast แล้วก็เลื่อนๆๆๆๆๆๆ ได้ค่าดูน่าพอใจแล้วก็กด Next
LCDSpec_Calibrate_Monitor_013
หลังจากปรับค่าความเหมาะสมของจอกันไปแล้ว คราวนี้จะเป็นส่วนของการปรับสมดุลสีขวา จะเป็นส่วนของการสร้างรูปแบบสี หรือ Color Profile ขึ้น และตรงนี้เองที่ต้องการความแม่นของการดูสีค่อนข้างมากเลยทีเดียว? ว่าแต่เมื่อกี้มีใครมาทางลัดกันบ้างครับ ?ไม่เป็นไร ใครมามาทางตรง หรือทางลัดก็ไม่ว่ากัน ถ้าใครมาทางตรง จะเห็นว่าขั้นตอนก่อนหน้าจะมีแค่ มากไป หรือน้อยไป ความเป็นไปได้มีแค่ 3 ช่วงรูปแบบเท่านั้น แต่ครั้งนึ้รูปแบบความเป็นไปได้มีถึง 7 ช่วงรูปแบบ (แดงเกินไป เขียวเกินไป น้ำเงินเกินไป ออกจะม่วงไปนะ ออกฟ้าไปนิด ออกเหลืองไปหน่อย หรือว่าสีพอดีแล้ว) กันเลยทีเดียว o_O เพราะมันคือการปรับสมดุลสีกันทีเดียวทั้ง 3 สี เพื่อให้ได้สมดุลสีขาวที่เหมาะสม งานนี้ถ้าใครมีตัวช่วยอย่างกระดาษเทากลาง หรือกระดาษสีเทา 18% ก็จะช่วยให้ปรับได้ง่ายขึ้นอีกนิดนึงครับ คุยไปอาจจะไม่เห็นภาพ กด Next เลยดีกว่า
LCDSpec_Calibrate_Monitor_014
อย่างที่บอกหล่ะครับ ว่าคราวนี้เราจะตั้งค่าสีพร้อมกันเลย 3 สี (แล้วจะมั่วไปมั้ยเนี่ย) และก็อย่างที่บอก (อีกแล้ว) ถ้าใชกระดาษเทากลางก็พอเอาเทียบๆ ได้ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร พยายามนิดนึง ค่อยๆ เลื่อนๆ ถ้าสีไหนมากไปก็ลดสีนั้นลง จนดูว่าสีทั้งหมดไล่จากขาวไปเทา (สีตรงกลางนั่นคือสีเทากลางหรือ Neutral grays) และเมื่อปรับจนได้สีเทาและไม่ แดงไป เขียวไป หรือน้ำเงินเกินไป ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว กด Next ต่อเพื่อบันทึกค่า
LCDSpec_Calibrate_Monitor_015
และสุดท้ายเมื่อปรับแต่งเสร็จ เผื่อใครจะลืมสีเดิมไปแล้ว ก็ลองกดที่ปุ่ม Previous calibration เพื่อดูค่าก่อนปรับสีก็ได้นะครับ บางจออาจจะดูว่าก่อนทำการปรับสีจอเราอาจจะฟ้าเกินไป หรือบางคนอาจจะใช้จอถนอมสายตา (เหลือง) มาเป็นเวลานานแล้วก็ได้ แต่ก็สุดแล้วแต่แหละครับ ถ้าใครดูแล้วว่าที่ Calibrate มานั้นดูแล้วไม่ชอบ ก็กด Cancel ออกไปได้ครับเพื่อใช้ค่าเดิม แต่ถ้าดูแล้วดีขึ้นก็กด Finish เป็นอันเสร็จสิ้นครับ
หลังจากได้ลอง Calibrate หน้าจอด้วยสายตาตัวเองกันไปแล้วไม่ทราบว่าเป็นยังไงบ้างครับ ลองเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น