ตรวจจับการลอกผลงานคนอื่นด้วย Anti-Kobpae
แม้อินเตอร์เน็ตจะมี ข่าวสารต่างๆและมีแหล่งความรู้มากมาย แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบอยู่ดี เพราะด้วยยุคความทันสมัยของเทคโนโลยีที่หาได้บนอินเตอร์เน็ต แทนที่จะสร้างเนื้อหาความรู้ด้วยตนเอง กลับกลายเป็นการแอบลอกจากหน้าเว็บไซต์แล้วมาแปะบนโปรแกรมพิมพ์งานโดยเจ้าของผลงานไม่รู้และไม่ได้รับการอ้างอิงถึงกันอยู่บ่อยๆ ตอนนี้มีเว็บไซต์ “Anti-Kobpae” ผลงานนักวิจัยจากหน่วยงาน HLT มาคอยช่วยตรวจสอบเอกสาร หรือบทความต่างๆว่า แอบลอกจากที่ไหนบ้าง?
โครงสร้างสถาปัตยกรรม ของระบบ
การทำงานของระบบจะเริ่มจากผู้ใช้อัพโหลดเอกสารหรือข้อความที่ต้องการตรวจสอบ หลังจากนั้นระบบจะแปลงเอกสารจากประเภทไฟล์ต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของข้อความ ทำความสะอาดข้อความและแบ่งคำ หลังจากนั้นจะนำข้อความเหล่านี้แบ่งออกเป็นส่วนๆ (Chunk) และนำแต่ละส่วนไปสืบค้นจากโครงการ NSC และ Google เมื่อได้โครงการหรือ URLs ที่คาดว่ามีความคล้ายแล้ว ก็จะทำการคำนวณเปรียบเทียบหาความคล้ายกันระหว่างเอกสารและคืนเปอร์เซ็นความคล้ายกันให้กับผู้ใช้
วิธีการใช้งาน Anti-Kobpae
เข้าไปที่เว็บไซต์ www.anti-kobpae.in.th แล้วเลือกว่าจะตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งไหน เช่น จากเว็บไซต์ หรือวิทยานิพนธ์ จากนั้นใส่ข้อความโดยพิมพ์หรือคัดลอกข้อความที่ต้องการตรวจสอบลงในกล่องข้อความ ( รับได้สูงสุดไม่เกิน 5000 ข้อความ ) หรือจะเลือกที่แท็บ “ไฟล์เอกสาร” เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลภายในไฟล์พวกไฟล์ Microsoft Word หรือ Open Office Writer ได้ โดยเพียงกดปุ่ม Browse เลือกไฟล์ที่ต้องการตรวจสอบ หากพิมพ์ข้อความ หรือ เลือกไฟล์ได้แล้ว ก็กดปุ่ม “ตรวจสอบ”ถ้าเลือกตรวจสอบจากเว็บไซต์ ระบบจะทำการวิเคราะห์ และแสดงผลผ่านทางหน้าเว็บไซต์ว่าข้อความหรือไฟล์ดังกล่าวไปลอกใครมาหรือไม่!! โดยจะแสดง URL ของเว็บไซต์ พร้อมทั้งคะแนนการจัดอันดับของแต่ละเว็บไซ์ตที่พบจากมากไปหาน้อย
ระบบตรวจสอบความคล้ายกันของเอกสาร Anti-Kobpae นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อวงการธุรกิจซอฟต์แวร์ วงการสื่อสารมวลชน บล็อกเกอร์ และวงการศึกษา ในการไปใช้อ้างอิงแหล่งที่มา และตรวจสอบว่ามีใครเอาบทความ ข่าว หรือวิทยานิพนธ์ ส่วนไหน ไปเผยแพร่ต่อบ้าง? ดังนั้นใครที่ชอบคัดลอกแล้วแปะบ่อยๆ โดยไม่อ้างอิงที่มาละก็ ระวังให้ดี อาจถูกโดนฟ้อง หรือจับได้ โดนปรับสอบตกก็เป็นได้!
หากท่านใดสนใจเกี่ยวกับ Anti-Kobpae ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ที่ www.anti-kobpae.in.th ผลงานโดย ทีมนักวิจัยจาก หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยและภาษา (HLT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ติดต่อที่ ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ โทร 02-564-6900 ต่อ 2240
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ทีมพัฒนา Anti-Kobpae หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยและภาษา (HLT)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น