4/27/2553

การทำงานบริการสังคมแทนการชำระค่าปรับ

การทำงานบริการสังคมแทนการชำระค่าปรับ

ทางเลือกใหม่ของผู้ต้องโทษที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ

คดีอาญาเมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับแล้วผู้ต้องโทษปรับต้องนำเงินมาชำระค่า ปรับภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา มิฉะนั้นจะถูกกักขังหรือยืดทรัพย์แทนค่าปรับ แต่ในปัจจุบันได้มีผู้รับโทษปรับต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งผู้ต้องโทษปรับต้องสูญเสียอิสรภาพโดยไม่สมควร ทำให้บุคคลในครอบครัวได้รับความเดือดร้อนและรัฐต้องรับภาระในการดูแลเพิ่ม มากขึ้น รัฐจึงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 ปรับเปลี่ยนมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดเสียใหม่ คือการให้ผู้ต้องโทษปรับสามารถร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณ ประโยชน์แทนค่าปรับได้อีกทางเลือกหนึ่ง

ความหมายของการทำงานบริการสังคมแทนการชำระค่าปรับ

การทำงานบริการสังคม คือ การทำงานบริการให้แก่สังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณกุศล โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ประเภทงานบริการสังคม ได้แก่

- การพัฒนาหรือทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น

- การดูแลสวนป่า หรือสวนสาธารณะ

- การช่วยเหลือ ดูแล อำนวยความสะดวก หรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ เด็กกำพร้า คนชรา ผู้ป่วย ในสถานสงเคราะห์ หรือสถานพยาบาล

- การสร้าง ซ่อมแซมอาคารสถานที่ราชการ เช่น ช่างไม้ ช่างประปา ช่างไฟฟ้า และช่างสี เป็นต้น

- การเป็นผู้ฝึกสอน วิชาชีพต่างๆ

- กิจกรรมอื่นๆ เช่นการทำงานในห้องสมุด การทาสีเครื่องหมายจราจร การบริจาคโลหิต เป็นต้น

หลักเกณฑ์การขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

- เป็นบุคคลธรรมดา

- ศาลลงโทษปรับไม่เกิน 80,000 บาท

- ผู้ต้องโทษปรับไม่มีเงินชำระค่าปรับ

สถานที่ยื่นคำร้อง

- ยื่นคำร้องได้ที่ศาลชั้นต้นที่ตัดสินคดี

จำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน

การกักขังแทนค่าปรับถืออัตรา วันละ 200 บาท ศาลพิพากษาปรับ 10,000 บาท จะถูกกักขังแทนค่าปรับ 50 วัน ในกรณีขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับก็จะต้องทำงานทั้งหมด 50 วันเช่นกัน แต่จำนวนชั่วโมงของการทำงานของประเภทงานแต่ละงานจะไม่เท่ากัน จำนวนชั่วโมงที่ถือว่าเป็นการทำงานหนึ่งวันมีดังนี้

1. การทำงานช่วยเหลือดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล งานวิชาการหรือสถานบริการด้านการศึกษา เช่น การสอนหนังสือ การค้นคว้าวิจัย หรือการแปลเอกสาร เป็นต้น จำนวน 2 ชั่วโมง ถือเป็นการทำงาน หนึ่งวัน

2. การทำงานวิชาชีพ งานช่างฝีมือที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น งานเครื่องยนต์ ก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ เป็นต้น จำนวน 3 ชั่วโมง ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน

3. งานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญอื่นๆนอกจากสองข้อที่กล่าวข้างต้น เช่น งานทำความสะอาด พัฒนาสถานที่สาธารณะ งานจราจร เป็นต้น จำนวน 4 ชั่วโมง ถือเป็นการทำงานวันหนึ่ง

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานบริการสังคม แทนค่าปรับ

1. ต่อผู้ต้องโทษปรับ

ผู้ต้องโทษปรับได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ โดยไม่ต้องถูกกักขัง แทนค่าปรับ ทำให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวได้ตามปกติ นอกจากนี้หากเป็นการทำงานที่มีระยะเวลาที่ต่อเนื่องกัน ก็จะเป็นการฝึกวินัย ความรับผิดชอบ ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงาน จะก่อให้เกิดความภาคภูมิแก่ผู้ต้องโทษปรับที่มีความรู้สึกภูมิใจแก่ผู้ต้อง โทษปรับด้วย เช่น การทำสนามเด็กเล่นของหมู่บ้าน การพัฒนาแหล่น้ำขงชุมชน

2. ต่อชุมชนและสังคม

เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม เช่น การเข้ามาเป็นหน่วยภาคีการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ หรือรับเป็นผู้ดูแลการทำงานบริการสังคมของผู้ต้องโทษปรับ และชุมชนยังได้งานจากผู้ต้องโทษปรับด้วย

3. ต่อรัฐ

รัฐไม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายในการสร้างสถานที่กักขัง หรือค่าใช้จ่ายในการควบคุมดูแลผู้ต้องโทษปรับที่ถูกกักขัง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น